ประวัติวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นคณะเภสัชศาสตร์ของมหาวิทยาลัยเอกชนแห่งแรก เริ่มเปิดสอนในปีการศึกษา 2530 เพื่อผลิตบัณฑิตในสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ซึ่งเป็นสาขาวิชาที่มีความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพของประชาชนในด้านการผลิตและการใช้ยา ทั้งยาแผนปัจจุบันและยาสมุนไพร ตลอดจนให้คำแนะนำในการระวังรักษาสุขภาพของประชาชนด้วยการบริโภคผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และการใช้วิธีการทางธรรมชาติบำบัดต่างๆ อย่างมีเหตุมีผล การเปิดสอนสาขาวิชาเภสัชศาสตร์ในสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ถือได้ว่าเป็นการช่วยประเทศชาติในการผลิตเภสัชกรมารับใช้สังคมโดยไม่พึ่งพาต่องบประมาณแผ่นดิน
ในระยะแรกคณะเภสัชศาสตร์ผลิตเภสัชกรที่ปฏิบัติงานได้ทุกด้านของวิชาชีพ เช่น เภสัชกร โรงพยาบาล เภสัชกรการตลาด เภสัชกรโรงงานอุตสาหกรรมยา เภสัชกรชุมชน นักวิชาการ และนักวิจัย เป็นต้น ต่อมาได้มีการปรับปรุงหลักสูตรอีกหลายครั้ง คือ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตปีการศึกษา 2542, 2544, 2546, 2547 และ 2548 ตามลำดับ ต่อมาปณิธานของวิชาชีพเน้นหนักไปในด้านการดูแลความปลอดภัยในการใช้ยาของประชาชน และบทบาทในด้านการป้องกันโรคมากขึ้น เพื่อสนองความต้องการของสังคม นอกจากนั้นสภาเภสัชกรรมได้เริ่มมีบทบาทในการควบคุมการผลิตเภสัชกรมากขึ้น โดยได้กำหนดให้ตั้งแต่ปีการศึกษา 2552 เป็นต้นไป เฉพาะหลักสูตรเภสัชศาสตร์ที่เปิดสอน 6 ปี เท่านั้นที่จะได้รับการอนุมัติจากสภาเภสัชกรรมให้สอบใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้ทำให้คณะฯ ต้องปรับเปลี่ยนหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตจากเดิมที่เป็นหลักสูตร 5 ปี ให้เป็นหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม (Doctor of Pharmacy Program in Pharmaceutical Care) หลักสูตร 6 ปี โดยเริ่มใช้หลักสูตรนี้ในปีการศึกษา 2552 การจัดการเรียนการสอนของหลักสูตรเน้นให้เภสัชกรสามารถเตรียมยา เลือกสรรยา และบริการด้านยา ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านเภสัชกรรมปฏิบัติซึ่งเน้นบทบาทการดูแลผู้ป่วย หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขา การบริบาลทางเภสัชกรรม ได้เพิ่มเนื้อหาขององค์ความรู้ทางการบำบัดด้วยยา เพื่อให้นักศึกษามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรค และการใช้ยาในผู้ป่วยแต่ละราย เข้าใจระบบองค์กรสาธารณสุข และมีความสามารถในการสื่อสารกับผู้ป่วยและบุคลากรอื่นในทีมงานสุขภาพได้ ตลอดจนมุ่งพัฒนาทักษะและประสบการณ์ด้วยการฝึกปฏิบัติงานจริงและมุ่งเน้นให้บัณฑิตเป็นผู้ที่มีความคิดสร้างสรรค์ มีคุณธรรม จริยธรรม และปฏิบัติตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม ในปีการศึกษา 2555 คณะฯ ได้เปิดหลักสูตรเภสัชศาสตร์ 6 ปี ในชื่อสาขา เภสัชศาสตร์ เพิ่มขึ้นอีกหลักสูตร เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศชาติในการพึ่งตนเองทางด้านการผลิตยา การวิจัยและพัฒนายา ซึ่งหลักสูตรใหม่ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย ผ่านความเห็นชอบจาก สกอ. และผ่านการรับรองโดยสภาเภสัชกรรม ให้เปิดรับนักศึกษาได้ในปีการศึกษา 2555 ซึ่งหลักสูตรเภสัช ศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเภสัชศาสตร์ (หลักสูตรใหม่ พ.ศ. 2555) ได้เปิดรับนักศึกษาพร้อมกันกับหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม ต่อมาในปีการศึกษา 2556 คณะฯ ได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ โดยเปลี่ยนชื่อสาขาเป็น สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ เพื่อให้สอดคล้องกับคำนิยามของเภสัชกรโดยสภาเภสัชกรรม ที่กล่าวถึงการปฏิบัติวิชาชีพในภาคอุตสาหกรรมยา ซึ่งหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ (หลักสูตรปรับปรุง 2556) ได้รับการอนุมัติจากสภามหาวิทยาลัย และได้รับการอนุมัติหลักสูตรจากสภาเภสัชกรรม เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2557
ในปีการศึกษา 2560 คณะเภสัชศาสตร์ ได้ปรับปรุงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ทั้งสองสาขาวิชา ซึ่ง เป็นการปรับปรุงหลักสูตรตามรอบเมื่อครบ 5 ปี โดยหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาการบริบาลทางเภสัชกรรม (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) ได้ผ่านความเห็นชอบจาก สกอ. เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2560 และ หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต สาขาเภสัชกรรมอุตสาหการ (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) ได้ผ่านความเห็นชอบจาก สกอ. เมื่อวันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2560 รวมถึงหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) ทั้งสองสาขาวิชาของมหาวิทยาลัยรังสิตได้รับการรับรองหลักสูตรจากสภาเภสัชกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้วตามประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 23/2560 ซึ่งมีกำหนดระยะเวลารับรองหลักสูตร 7 ปีนับจากวันที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2560 จากผลการประกาศรับรองหลักสูตรทั้งสอง ซึ่งเป็นการรับรองคุณภาพของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอนวิชาเภสัชศาสตร์โดยสภาเภสัชกรรม สกอ. ได้พิจารณาแล้วว่าการรับรองคุณภาพของหลักสูตรโดยสภาเภสัชกรรม มีตัวบ่งชี้คุณภาพครบถ้วนเทียบเคียงกับระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตร ของ สกอ. ดังนั้นที่ประชุม สกอ. ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2559 จึงให้การรับรองระบบการประเมินคุณภาพหลักสูตรของสภาเภสัชกรรม ตั้งแต่ปีการศึกษา 2559 เป็นต้นไป ทำให้หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ทั้งสองหลักสูตรของมหาวิทยาลัยรังสิต (หลักสูตรปรับปรุง พ.ศ. 2561) ซึ่งผ่านการรับรองหลักสูตรโดยสภาเภสัชกรรม และใช้จัดการเรียนการสอนตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 นั้น ได้รับการยกเว้นการประเมินคุณภาพการศึกษาภายใน
นอกจากการจัดการศึกษาระดับปริญญาตรีแล้ว คณะฯ ยังเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้มีการจัดการศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา เพื่อต่อยอดความรู้ ของบัณฑิตในการค้นคว้าวิจัยด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ โดยในเริ่มแรกของหลักสูตรบัณฑิตศึกษาของคณะ มีการดำเนินการ 2 หลักสูตรได้แก่ เภสัชศาสตรมหาบัณฑิตและเภสัชศาสตรดุษฏีบัณฑิต ซึ่งเริ่มเปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ในปีการศึกษา 2555 จนครบรอบการปรับปรุงหลักสูตรระยะ 5 ปี ในปีการศึกษา 2559 จึงได้ปรับปรุงหลักสูตร โดยเปลี่ยนชื่อเป็นหลักสูตรวิทยาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ และปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาเภสัชศาสตร์ ตามลำดับ ซึ่งหลักสูตรบัณฑิตศึกษาทั้งสองหลักสูตรนั้นได้ผ่านความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาแล้ว เมื่อ วันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 และได้ใช้หลักสูตรฉบับปรับปรุงทั้งสองนี้ดำเนินการจัดการเรียนการสอนมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2560 และผ่านระบบการประเมินคุณภาพการศึกษาภายในระดับหลักสูตรเป็นประจำทุกปี
คณะเภสัชศาสตร์เปิดดำเนินการ โดยมีคณบดีตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 5 ท่าน ท่านแรกคือ ศ. (พิเศษ) ภญ.ฉวี บุนนาค (ปีการศึกษา 2530 - 2540) ท่านที่สองคือ ศ.ดร.ภญ.สสี ปันยารชุน (ปีการศึกษา 2541 - 2544) ท่านที่สามคือ รศ.ดร.ภญ.อรพรรณ มาตังคสมบัติ (ปีการศึกษา 2545 - 2552) ท่านที่สี่คือ ศ. (พิเศษ) ดร.ภญ.กฤษณา ไกรสินธุ์ (ปีการศึกษา 2553 – 2555) และปัจจุบัน คือ ผศ.ดร.ภก.ธนภัทร ทรงศักดิ์ซึ่ง ดำรงตำแหน่งคณบดี ตั้งแต่ปีการศึกษา 2556 ได้ผลิตเภสัชกรรุ่นแรกออกไปในปี พ.ศ. 2535 จนถึงปัจจุบันได้ ผลิตเภสัชกรไปแล้วรวม 27 รุ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 3,555 คน
ภายใต้นโยบายและการบริหารงานของ ผศ.ดร.ภก.ธนภัทร ทรงศักดิ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งคณบดีคนปัจจุบัน ได้จัดตั้งสถาบันวิจัยกัญชาเพื่อการแพทย์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตผลงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชาทางการแพทย์ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน จนเป็นที่ประจักษ์และสร้างชื่อเสียงให้แก่มหาวิทยาลัยรังสิต ในการเป็นผู้นำของสังคมด้านการเป็นผู้ริเริ่มนำพืชเสพติดมาศึกษาวิจัยให้เกิดคุณประโยชน์ มหาวิทยาลัยรังสิตจึงมีคำสั่งที่ ว.155/2561 ประกาศยกฐานะคณะเภสัชศาสตร์ ขึ้นเป็นวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ ตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2561 เป็นต้นมา ซึ่งถือว่าเป็นสถาบันการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งเดียวในประเทศไทย ที่ใช้ชื่อวิทยาลัยเภสัชศาสตร์
ทำเนียบคณบดีวิทยาลัยเภสัชศาสตร์
ศาสตราจารย์พิเศษ เภสัชกรหญิงฉวี บุนนาค
(ปีการศึกษา 2530-2540)
ศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงสสี ปันยารชุน
(ปีการศึกษา 2541-2544)
รองศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรหญิงอรพรรณ มาตังคสมบัติ
(ปีการศึกษา 2545-2552)
ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. เภสัชกรหญิงกฤษณา ไกรสินธุ์
(ปีการศึกษา 255-2555)
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. เภสัชกรธนภัทร ทรงศักดิ์
ดำรงตำแหน่งคณบดี ปีการศึกษา 2556-ปัจจุบัน