ศูนย์ความเป็นเลิศทางเภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์แม่นยำ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
Excellence Pharmacogenomics and precision medicine centre, College of Pharmacy Rangsit University
หลักการและเหตุผล
เภสัชพันธุศาสตร์ (Pharmacogenomics) เป็นการศึกษาความสัมพันธ์เกี่ยวกับความผันแปรทางพันธุกรรม (genetic variations) ของยีนที่มีผลต่อการตอบสนองในด้านการรักษาด้วยยา (drug response) และป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากยา (adverse drug reactions; ADRs) ที่อาจจะเกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละบุคคล โดยเภสัชพันธุศาสตร์นั้นมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อศึกษาและทำความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างความผันแปรของสารพันธุกรรมเฉพาะบุคคล (individuals person) และการออกฤทธิ์ของยา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการรักษา (drug efficacy) สูงสุด และเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้เภสัชพันธุศาสตร์ยังสามารถใช้เป็นข้อมูลสำหรับแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ในการตัดสินใจเลือกใช้ยา วิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง และมุ่งเน้นประสิทธิภาพที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา การศึกษาทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์เป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่จำเพาะเจาะจงต่อโรค อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา และการออกฤทธิ์ของยา เพื่อคัดเลือกยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และป้องกันการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วยแต่ละราย
อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reactions; ADRs) เป็นปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการดูแลรักษาผู้ป่วยในหลายด้าน อย่างเช่น ข้อจำกัดในการเลือกใช้ยา ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้น และอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วยจนถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการวินิจฉัย และการรักษาอย่างทันท่วงที อาการไม่พึงประสงค์จากยาที่พบมากที่สุด ได้แก่ อาการทางผิวหนัง (skin disorders) หรืออาการแพ้ยาทางผิวหนัง (cutaneous adverse drug reactions; CADRs) ซึ่งเป็นลักษณะความผิดปกติที่สามารถสังเกตได้ง่ายและเป็นสาเหตุร้อยละ 1 – 3 ของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล โดยลักษณะผื่นแพ้ยาทางผิวหนังที่ปรากฏมีหลายชนิด และมีระดับความรุนแรงที่แตกต่างกัน ตั้งแต่อาการไม่รุนแรง เช่น rash, maculopapular eruption (MPE), urticaria และ exfoliative dermatitis จนถึงลักษณะผื่นแพ้ยาทางผิวหนังที่มีอาการรุนแรง ได้แก่ Stevens-Johnson syndrome (SJS), Toxic epidermal necrolysis (TEN) และ Drug Hypersensitivity with eosiophilia and systemic symptom (DRESS) หรือ Drug induced hypersensitivity syndrome (DISH) หรือ Hypersensitivity syndrome (HSS)
การรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแบบผื่นแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรง ในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2527 – 2559 ของศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา พบว่ายาที่มีการรายงานอาการไม่พึงประสงค์ทางผิวหนังชนิดรุนแรงแบบ SJS และ TEN ในประเทศไทย ได้แก่ co-trimoxazole, allopurinol, carbamazepine, phenytoin, lamivudine/nevirapine/stavudine และ amoxicillin เป็นต้นโดยลักษณะอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาดังกล่าวได้แก่ ไข้ ผื่นขึ้นทั่วตัว โดยลักษณะของผื่นที่เกิดขึ้นแบบ atypical target lesion รวมทั้งมีการอักเสบบริเวณเยื่อบุอวัยวะต่าง ๆ และผิวหนังหลุดลอก ตั้งแต่ไม่เกินร้อยละ 10 ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมดของร่างกายสำหรับ SJS หรือมากกว่าร้อยละ 30 ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมดของร่างกายสำหรับ TEN และร้อยละ 10 – 30 ของพื้นที่ผิวหนังทั้งหมดของร่างกายจัดเป็น SJS/TEN overlap โดยพบอาการที่จะเริ่มปรากฏหลังจากได้รับยาที่เป็นสาเหตุประมาณ 1 – 3 สัปดาห์ และมีอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 5 – 50 นอกจากนี้ศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีการรายงานถึงยาที่ทำให้ผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์ทางผิวหนังชนิดรุนแรงแบบ DRESS/DIHS/HSS ได้แก่ phenytoin (ร้อยละ 25.9) allopurinol (ร้อยละ 10.8) ยาที่มีส่วนผสมของ nevirapine (ร้อยละ 10.5) co-trimoxazole (ร้อยละ 7.7) phenobarbital (ร้อยละ 6.2) และ dapsone (ร้อยละ 2.5) เป็นต้น ซึ่งการเกิดผื่นแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงแบบ DRESS/DIHS/HSS มีอุบัติการณ์ประมาณ 1 ต่อ 1,000 ถึง 1 ต่อ 10,000 รายของผู้ป่วยที่ได้รับยาดังกล่าว โดยอาการจะเริ่มปรากฏหลังจากได้รับยาไปแล้วประมาณ 2 – 8 สัปดาห์ในกรณีที่ได้รับยาครั้งแรก และอัตราการเสียชีวิตประมาณร้อยละ 10 โดยอาการที่แสดงในผู้ป่วยได้แก่ ผื่นผิวหนังแบบ (macule/patch หรือ papule/plaque) ซึ่งอาจพบร่วมกับตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนอง ไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต (มีขนาดมากกว่า 2 เซนติเมตร) ความผิดปกติของอวัยวะภายใน เช่น ตับอักเสบ ไตอักเสบ ปอดอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้จะพบ eosinophilia (มากกว่า 1,500 cell/mm3) หรือ atypical lymphocyte จากการตรวจ complete blood cell count (CBC)
ในปัจจุบันได้มีการศึกษาวิจัยที่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแบบผื่นแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงแบบ SJS, TEN และDRESS ที่มีความสัมพันธ์กับลักษณะทางพันธุกรรมของยีน Major Histocompatibility Complex (MHC) หรือยีน Human Leukocyte Antigen (HLA) อย่างเช่นในปีพ.ศ. 2548 Hung และคณะ ได้ศึกษาความสัมพันธ์ของยีน HLA-B*58:01 กับการแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงจากยา allopurinol ในกลุ่มประชากรชาวจีนฮั่นโดยพบว่าผู้ที่มียีน HLA-B*58:01 จะมีความเสี่ยงต่อการเกิด SJS/TEN จากการใช้ยา allopurinol สูงถึง 580 เท่า นอกจากนี้ได้มีการศึกษาในประชากรไทยพบว่าผู้ที่มียีน HLA-B*58:01 จะมีความเสี่ยงต่อการเกิด SJS/TEN จากการใช้ยา allopurinol สูงถึง 384 เท่า และได้มีการศึกษาทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่แสดงความสัมพันธ์ของยีน HLA-B*15:02 กับผื่นแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงที่เกิดจากยา carbamazepine โดยพบว่ายีน HLA-B*15:02 มีความสัมพันธ์กับการแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงแบบ SJS/TEN จากยา carbamazepine โดยเฉพาะกับผู้ป่วยชาวไทยและเอเชียบางประเทศ แต่พบความแตกต่างทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่สัมพันธ์กับยาดังกล่าวในชาวยุโรป และชาวญี่ปุ่นโดยพบว่ายีน HLA-A*31:01 มีความสัมพันธ์กับการแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรงแบบ SJS-TEN, DRESS และMPE จากยา carbamazepine ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของเชื้อชาติ และกลุ่มประชากรที่มีความถี่ของแอลลีล (allele) ที่แตกต่างกัน ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ของอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ดังนั้นศูนย์เภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคล วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต (Pharmacogenomics and precision medicine centre, College of Pharmacy Rangsit University) จึงได้จัด ตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์หลักในการตรวจคัดกรองผู้ป่วยเพื่อหาเครื่องบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์ที่มีความสัมพันธ์กับอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาแบบผื่นแพ้ยาทางผิวหนังชนิดรุนแรง และเป็นข้อมูลทางเภสัชพันธุศาสตร์ของผู้ป่วยเฉพาะราย ตลอดจนเป็นสถาบันการศึกษาเอกชนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้จัดตั้งศูนย์เภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคล ที่เห็นถึงความสำคัญทางด้านอณูทางการแพทย์ (Molecular medicine) ในผู้ป่วยเฉพาะราย เพื่อสนับสนุนการเลือกใช้ยา วิธีการรักษาที่จำเพาะเจาะจง และมุ่งเน้นประสิทธิภาพการรักษาที่ดีที่สุดต่อผู้ป่วยร่วมกับทีมแพทย์ เภสัชกร และบุคลากรทางการแพทย์ นอกจากนี้เครื่องบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์ยังสามารถทำนายการแพ้ยาที่อาจจะเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า และทำให้การรักษาผู้ป่วยมีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ตลอดจนเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพสาขาเน้นของนักศึกษา วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต และนักวิจัยที่สนใจทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์
วัตถุประสงค์
- เพื่อตรวจวิจัยเครื่องบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์ของผู้ป่วย ก่อนรับประทานยาที่มีความเสี่ยงกับการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา
- เพื่อให้นักศึกษา และผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถทำการตรวจตามสิทธิประโยชน์ อาทิเช่น การตรวจยีน HLA ก่อนเริ่มยาคาร์บามาซีปีน เป็นต้น ตามประกาศของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)
- เพื่อให้บริการการตรวจวินิจฉัย และสามารถประยุกต์เครื่องบ่งชี้ทางเภสัชพันธุศาสตร์ของผู้ป่วย สำหรับการประเมินและวางแผนการรักษา ให้แก่แพทย์ เภสัชกร บุคลากรทางการแพทย์ทั้งในโรงพยาบาลภาครัฐ และเอกชน
- เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคล ตลอดจนเป็นการสร้างเสริมศักยภาพในการให้บริการทางด้านวิชาการของอาจารย์ นักศึกษาเภสัชศาสตร์ และนักวิจัย
- เพื่อจัดตั้งและพัฒนาห้องปฏิบัติการทางเภสัชพันธุศาสตร์ และการแพทย์เฉพาะบุคคลในระดับมาตรฐานสากล
- เพื่อเป็นแหล่งฝึกปฏิบัติงานวิชาชีพสาขาเน้นของนักศึกษา วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต หลักสูตร Pharm. D. (หลักสูตร 6 ปี)
สถานที่ดำเนินการ
พื้นที่ชั้น 2 ตึก 4/2 อาคารวิทยาศาสตร์การแพทย์ประสิทธิ์ อุไรรัตน์ วิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
วัน-เวลาปฏิบัติงาน
จันทร์ – ศุกร์ เวลา 08.30 – 16.30 น.
วันหยุด เสาร์ – อาทิตย์ (หากมีความจำเป็นต้องปฏิบัติงาน)