52/347 พหลโยธิน 87 ถ.พหลโยธิน อ.เมือง,
จ.ปทุมธานี 12000

โทร. 02-791-6000 ต่อ 1422 โทรสาร. 02-791-6000 ต่อ 1403
rsu.pharmacy@gmail.com

เลือกแล้ว! “ประสะกัญชา - อัมฤตย์โอสถ” ม.รังสิต เตรียมวิจัยตำรับยากัญชา ๒ ขนาน สืบทอดตำรับยาพระราชทาน ๑๔๙ ปี จากสมัยรัชกาลที่ ๕/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

บุคคลสำคัญท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์การแพทย์แผนไทย คือ พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท พระราชบุตรลำดับที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์มาตั้งแต่ในรัชกาลที่ ๒ และได้ทรงรักษาคนไข้ จนปรากฏพระเกียรติคุณเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ในปลายรัชกาลนั้นโปรดให้ทรงกำกับกรมหมอหลวงมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๓ จนถึงรัชกาลที่ ๔ [1]

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ทรงชำนาญวิชาแพทย์ทั้งในและต่างประเทศจึงทรงสะสมตำราแพทย์ไว้มาก โดยทรงนิพนธ์ “ตำราสรรพคุณยา ของกรมหลวงวงษาธิราชสนิท เล่ม ๑ และ เล่ม ๒” ซึ่งถือว่าเป็นตำราสมุนไพรเล่มแรกของไทยที่เขียนแบบเอกสารทางวิชาการ คือมีการแจกแจงและวิเคราะห์ส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพรแต่ละชนิด พร้อมจำแนกสรรพคุณของยาสมุนไพรตามแบบวิทยาศาสตร์การแพทย์ตะวันตกที่ก้าวหน้าที่สุดในยุคนั้น

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายก็ตรงที่ว่า “ตำราสรรพคุณยา” ของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงษาธิราชสนิทนั้นได้บันทึกรวบรวมสรรพคุณยาจำนวนทั้งสิ้น ๑๖๖ รายการ แต่กลับไม่ปรากฏ “สรรพคุณของกัญชาโดยเฉพาะ” แต่ประการใดเลย [2]

กัญชาและสมุนไพรใดๆก็ตาม ไม่เคยถูกนำมาใช้ในฐานะเป็นสมุนไพรเดี่ยวเพื่อรักษาโรคใดโรคหนึ่งในการแพทย์แผนไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกัญชานั้นถูกจัดให้เป็นสมุนไพรที่ออกฤทธิ์เมาเบื่อ ยิ่งต้องมีการใช้อย่างระมัดระวังยิ่งขึ้น ซึ่งมีหลักฐานว่ากัญชาได้ถูกนำมาใช้เข้าในตำรับยาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาแล้ว

อย่างไรก็ตาม พ.ศ. ๒๔๑๓ (จุลศักราช ๑๒๓๒) พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริว่า คัมภีร์แพทย์ของไทยที่ได้บันทึกความรู้อันมีคุณประโยชน์แก่แผ่นดินและใช้ศึกษาต่อกันมาได้เริ่มสูญหายและคลาดเคลื่อนมากแล้ว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้พระเจ้าราชวรวงษ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์เป็นแม่กองจัดหารวบรวม ชำระสอบสวนตำรับคัมภีร์แพทย์ที่ใช้กันอยู่ขณะนั้นให้ถูกต้องดี แล้วส่งมอบให้พระเจ้าราชวงษ์เธอ กรมหมื่นอักษรสาสนโสภณ จางวางกรมอาลักษณ์ กรมอักษรพิมพการ จัดสร้างขึ้นใหม่บันทึกในสมุดไทยเป็น “คัมภีร์แพทย์ฉบับหลวง” เพื่อเป็นส่วนพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติ และเป็นตำราที่ใช้ประโยชน์ในชาติบ้านเมืองต่อไป ซึ่งปัจจุบันต้นฉบับคัมภีร์แพทย์ฉบับหลวงเป็นสมุดไทยจัดเก็บอยู่ที่หอสมุดแห่งชาติ เรียกว่า “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” [3]

ต่อมาเมื่อเวลาผ่านไปภายหลังจากจากสร้างคัมภีร์แพทย์ฉบับหลวงเป็นเวลา ๓๗ ปี พระยาพิศณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช) หรือ “หมอคง” ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์แผนไทยในคณาจารย์ของ “ราชแพทยาลัย” และต่อมาท่านได้เป็นผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร ได้เห็นความจำเป็นว่า บรรดาราษฎรไทยที่ป่วยไข้ต้องรู้จักวิธีการรักษาตนเอง การจะเจาะแสวงหาตำราแพทย์ซึ่งมีอยู่น้อยมาคัดลอกเพื่อไปใช้เยียวยาก็เป็นการล่าช้าไม่ทันการ

นอกจากนี้พระคัมภีร์ของหลวงที่ตรวจสอบถูกต้องมีอยู่แล้วก็จริง แต่ก็ใช้กันในหมู่แพทย์หลวงเท่านั้น ประชาชนทั่วไปมีโอกาสใช้น้อย อีกทั้งพระยาพิศณุประสาทเวชมีความประสงค์จะเทิดทูนความศักดิ์สิทธิ์ของพระคัมภีร์แพทย์แผนไทยไว้ให้เป็นสมบัติสาธารณะแก่ลูกหลานเหลนไทยทั้งมวล จึงนำความกราบทูลขอประทานพระอนุญาต สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณในเวลานั้น พิมพ์ “คัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง” ๒ เล่มจบ ให้เป็นตำราแพทย์แผนไทยของเราเอง และได้รับฉันทานุมัติให้จัดพิมพ์อย่างสมบูรณ์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ ๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๕๐ [4]

“คัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง” แม้จะมีความคล้ายคลึงกับ “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” แต่ด้วยมีช่วงเวลาในการจัดทำห่างกันถึง ๓๗ ปี จึงทำให้มีความแตกต่างกันในรายละเอียด โดยมีการตัดออก เพิ่มเติม ดัดแปลง ฯลฯ

แต่ที่น่าสนใจคือในบรรดาตำรับยาที่มีการเข้ากัญชานั้น ปรากฏว่าตำรับยา “ที่มีการผสมกัญชาในสัดส่วนมากที่สุด”ในรัชกาลที่ ๕ นั้นกลับอยู่ใน “พระคัมภีร์สรรพคุณ (แลมหาพิกัด)” ว่าด้วยเรื่อง “กันชา” มีข้อความใน “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” ตรงกันกับ “คัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง” ความว่า

“ กันชา แก้ไขผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่นเสียงสั่น เปนด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ เอาตรีกฏุก ๑ จันทน์ทั้ง ๒ ใบสะเดา ๑ ใบคนทีเขมา ๑ พริกล่อนเสมอภาค ใบกันชาเท่ายาทั้งหลายทำผง เอาน้ำมะพร้าว น้ำผึ้ง น้ำส้มส้า น้ำตาลทราย กระทือสด น้ำเบญจทับทิม ต้มละลายกินหายแล”

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าแม้เป็นการบรรยายสรรพคุณของกัญชาเป็นการเฉพาะเจาะจง แต่ก็ไม่ได้ใช้กัญชามาเป็นสมุนไพรเดี่ยว และต้องนำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของตำรับเท่านั้น และการที่“คัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับหลวง”  แม้อาจจะมีความแตกต่างกันในรายละเอียดเมื่อเทียบกับ “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” แต่การที่ข้อความในส่วนของสรรพคุณเภสัชในส่วนของกัญชาเหมือนกันทุกประการ ย่อมแสดงถึงการได้ข้อยุติเป็นฉันทานุมัติในช่วงเวลาที่ห่างกันถึง ๓๗ ปี ว่าการใช้กัญชานั้นจะต้องเป็นการปรุงตำรับดังที่กล่าวมาแล้ว จึงจะเป็นการใช้กัญชาที่มีสรรพคุณข้อบ่งใช้ตามที่ระบุเอาไว้ได้อย่างปลอดภัย

คัมภีร์แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งมีตำรับยาที่เข้ากัญชานี้ยังคงตกทอดและมีการเรียนการสอนกันในการแพทย์แผนไทยอยู่จนถึงในปัจจุบัน หมายความว่าตำรับยานี้ที่มีหลักฐานมาตั้งแต่“ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕”มีอายุสืบทอดมายืนยาวจนถึงปัจจุบันเป็นเวลา ๑๔๙ ปีแล้ว

แม้ว่าตำรับยากัญชาจะไม่ได้มีชื่อมาก่อน แต่เมื่อพิจารณาแล้วมีสัดส่วนของกัญชาเป็นครึ่งหนึ่ง โดยปรากฏข้อความว่า “ใบกันชาเท่ายาทั้งหลาย” นั่นหมายถึงว่ามีใบกัญชาอยู่ครึ่งหนึ่งของตัวยาสมุนไพรทั้งหมดรวมกัน ซึ่งในหลักการของการแพทย์แผนไทยมีศัพท์อยู่คำหนึ่งที่ใช้เรียกแทนตำรับยาที่มีสมุนไพรตัวใดตัวหนึ่งอยู่ครึ่งหนึ่งว่า “ประสะ”

โดยคำว่า “ประสะ” ปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๔๒ ระบุเอาไว้ว่าหมายถึง การฟอกหรือชำระสิ่งต่างๆ ให้ยาสะอาดขึ้นหรือทำให้ยามีรสอ่อนลง หรือใช้เรียกที่เข้าเครื่องยาสิ่งหนึ่ง “เท่ากับ”เครื่องยาอื่นๆรวมกัน ดังนั้น ตำรับยาที่เข้ากัญชาครึ่งหนึ่งซึ่งไม่ได้มีชื่อมาก่อน จึงอาจจะเรียกในอีกชื่อหนึ่งเพื่อให้ง่ายต่อการเรียกขานว่า “ประสะกัญชา”

กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำ (ร่าง)รายการตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อวันที่ ๑๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยได้รวบรวมมาทั้งสิ้น ๙๐ ตำรับ ซึ่งปรากฏว่าตำรับยาที่มีสัดส่วนของกัญชาครึ่งหนึ่ง หรือเรียกว่า ประสะกัญชานี้ มีกัญชาเป็นสัดส่วนอยู่ในตำรับมากที่สุดเท่าที่เคยมีมาในประวัติศาสตร์ของคัมภีร์การแพทย์แผนไทยทั้งหมด

สรรพคุณกัญชาตามตำราไทยในแต่ละส่วนของกัญชานั้นระบุว่า “ใบ” ชูกำลัง แก้อ่อนเพลีย เจริญอาหาร กระตุ้นประสาท ทำให้นอนหลับ “เมล็ด” ชูกำลัง เจริญอาหาร ทำให้ประจำเดือนมาตามปกติ “ช่อดอกตัวเมีย”บำรุงประสาท แก้ปวดประสาท ทำให้เคลิ้มฝัน มีฤทธิ์เป็นยาระงับปวด แต่ถ้าบริโภคมากจะทำให้คอแห้ง มึนเมา หลอกหลอนประสาท ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ หวาดกลัว หมดสติ

ดังนั้น “ตำรับประสะกัญชา” กำหนดให้ใช้ใบกัญชาเป็นสัดส่วนถึงครึ่งหนึ่ง แต่ไม่ได้ใช้ดอกกัญชาซึ่งมีสารสำคัญในปริมาณเข้มข้นมากกว่าใบนั้น ก็เพราะขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ว่าต้องการอะไร ในปริมาณเท่าไหร่ให้สอดคล้องกับข้อบ่งใช้ตามสรรพคุณยาของตำรับนั้นให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัย

ในประการสำคัญอันเป็นความลับที่อาจซ่อนอยู่คือ องค์ความรู้ในทางเภสัชศาสตร์ยุคใหม่ทำให้ได้ทราบว่าสารที่มีชื่อว่า “พิพเพอรีน” (piperine) ซึ่งพบใน ดีปลี พริกไทย ซึ่งก็คือสมุนไพร ๒ ใน ๓ ชนิด ซึ่งอยู่ในตรีกฏุก และพริกล่อน สมุนไพรเหล่านี้ล้วนเป็นส่วนสำคัญในตำรับยาประสะกัญชา จะเพิ่มความสามารถในการออกฤทธิ์สมุนไพรได้เพิ่มสูงขึ้นได้อย่างมาก หรือที่เรียกว่า ชีวประสิทธิผล (Bioavailability) [5]

สาร “พิพเพอรีน” นั้นเพิ่มการออกฤทธิ์ทางยาเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตได้เพียงใดนั้น  มีงานวิจัยที่พบว่าสารพิเพอรีนนี้สามารถเพิ่มการออกฤทธิ์ทางยาบางชนิดได้สูงถึง ๓๐%-๒๐๐% และในกรณีของสารเคอร์คิวมินซึ่งมีอยู่ในขมิ้นชันนั้นพบว่า เมื่อเติมสารพิพเพอรีนเข้าไปจะสามารถการออกฤทธิ์ทางยาผ่านการดูดซึมเพิ่มสูงขึ้นถึงเกือบ ๑๐ เท่าตัว [6]

ดังนั้น ด้วยการออกฤทธิ์ทางยามากเช่นนี้ “ตำรับประสะกัญชา” จึงเลือกใช้ “ใบกัญชา”แทนการใช้ดอกกัญชาตัวเมีย เพื่อไม่ให้เกิดอาการทางจิตประสาทมากเกินไป แต่ให้ผลการออกฤทธิ์ทางยาเพิ่มมากขึ้นได้ ภูมิปัญญาไทยนี้มีความแตกต่างจากนักวิจัยทั่วโลกที่มุ่งแต่หาสารสำคัญในกัญชาเป็นยาเดี่ยว เพื่อหวังการออกฤทธิ์ทางยาให้มากที่สุด แต่ก็ยังติดอุปสรรคผลข้างเคียงการออกฤทธิ์ทางจิตประสาทในการใช้ในมนุษย์จริงจึงเป็นผลทำให้ใช้ได้อย่างจำกัด

แต่ถ้าจะหาตำรับที่ใช้ “ดอกกัญชา” ในปริมาณมากๆด้วยนั้น ก็ยังไม่พบว่าตำรับยาไทยจะใช้ปริมาณน้ำหนักของดอกกัญชาจะมีสัดส่วนเกินไปกว่า “ตำรับยาประสะกัญชา”ได้ อย่างไรก็ตามพบตำรับหนึ่งซึ่งอยู่ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ในพระคัมภีร์ไกษยนั้น มีปริมาณกัญชาในปริมาณที่ไม่น้อยเช่นกัน ซึ่งมีชื่อว่า “อัมฤตย์โอสถ”

“อัมฤตย์โอสถ” ตำรับยานี้มีความน่าสนใจเพราะว่า ไม่ได้ปรากฏในตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕ ที่ได้มีการรวบรวมไว้โดย พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์ พระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ มีพระนามเดิมว่า “พระองค์เจ้าชายอมฤตย์”

ความน่าสนใจมีอยู่ว่า ตำรับยา “อัมฤตย์โอสถ” นี้มีชื่อสอดคล้องกับพระนามเดิมของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย จางวางกรมแพทย์ แต่มีคำถามว่าเหตุใดกลับไม่ปรากฏอยู่ใน “ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” ซึ่งรวมรวมโดย“พระองค์เจ้าชายอมฤตย์” หรือพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นภูบดีราชหฤทัย

เป็นไปได้หรือไม่ว่าในเวลาตอนนั้น “อัมฤตย์โอสถ” เป็นตำรับยาขนานที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่ไม่เผยแพร่ไว้ใน“ตำราเวชศาสตร์ฉบับหลวง รัชกาลที่ ๕” ตำรับยาขนานนี้จึงเกือบจะสูญหายไปแล้ว แต่เมื่อเวลาผ่านไป ๓๗ ปี “ตำรับยาอัมฤตย์โอสถ”ได้ถูกนำมารวบรวบใน “ตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์”โดยพระยาพิษณุประสาทเวช โดยระบุว่าตำรับยาขนานนี้ อยู่ในตำราหลวงชื่อ “ไฟสุมขอน” ๑ ใน ๒ ขนานที่เพิ่มเติมขึ้นมาในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งระบุสรรพคุณว่า “แก้ลมกไษยทั้งปวง” แสดงให้เห็นว่าตำรับยาขนานนี้มีคุณค่าอย่างยิ่งเพียงใด

“ลมไกษยทั้งปวง” ความหมายที่เทียบเคียงคือโรคเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับความเสี่อมที่ส่งผลต่อระบบการเคลื่อนไหวในร่างกาย (ธาตุลม) ซึ่งย่อมเกี่ยวพันกับการสั่งการของสมองด้วย เช่น ระบบการไหลเวียนเลือด ความดันโลหิต ระบบประสาทที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวหรือการเกร็งตัวทางกายภาพ การเต้นของหัวใจ การเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหาร การขับถ่าย การหายใจ ฯลฯ ดังนั้น การที่ระบุว่า “อัมฤตย์โอสถ” แก้ลมไกษยทั้งปวงนั้นย่อมหมายถึงเป็นตำรับยาที่แก้ไขทั้งระบบในวงกว้างที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวภายในร่างกาย ความว่า

“ขนานหนึ่งชื่ออัมฤตย์โอสถ แก้ลมไกษยทั้งปวง เอาสหัสคุณ ๑ แก่แสมทเล ๑ รากส้มกุ้ง ๑ ลูกมะตูม ๑ ลูกมะแหน ๑ ลูกพิลังกาสา ๑ สมอเทศ ๑ สมอไทย ๑ โกฏเขมา ๑ เทียนคำ ๑ เทียนขาว ๑ ลูกจันทน์ ๑ ดอกจันทน์ ๑ กระวาน ๑ กานพลู ๑ ดีปลี ๑ ยาทั้งนี้เอาเสมอภาคเอาเปลือกหอยโข่ง ๑ เปลือกหอยขม ๑ เปลือกหอยแครง ๑ เบื้ยผู้เผา ๑ เอาสิ่งละ ๓ ส่วนเอากัญชา ๑๐ ส่วน เอาพริกไทย ๒ เท่ายาทั้งหลาย ตำผงกระสายยักย้ายใช้ให้ชอบโรคทั้งหลายเถิด ตำราหลวง ๒ ขนานเท่านี้แล” [4]

ความน่าสนใจของยา ๒ ขนานคือ ทั้ง “ประสะกัญชา” และ “อัมฤตย์โอสถ” ต่างเกี่ยวกับโรคที่เกี่ยวกับธาตุลมทั้งคู่ กล่าวคือ “ประสะกัญชา” แก้โรคอันเกิดจาก “วาโยกำเริบ” หรือธาตุลมกำเริบ ในขณะที่ “อัมฤตย์โอสถ” ก็แก้โรคกระษัยลมทั้งปวง ก็เกี่ยวกับโรคความเสื่อมอันเป็นเหตุทำให้เกิดโรคของธาตุลมเช่นกัน และตำรับยาทั้ง ๒ นี้ก็มีส่วนผสมของพิพเพอร์รีนที่มาจาก พริกไทย ดีปลี หรือพริกล่อนจำนวนไม่น้อยเช่นกันด้วย

ทั้งนี้ สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่มีทั้งในกัญชามีผลข้างเคียงอยู่หลายประการ ได้แก่ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก ตาแดง หลอดลมขยายตัว กล้ามเนื้อคลายตัว [7] และลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร [8]

ในขณะที่พริกไทยปรากฏอยู่ในพระคัมภีร์สรรพคุณ มหาพิกัดระบุว่า “พริกไทยนั้นแก้ในกองลมสรรพคุณสิ่งอื่นจะแก้ลมยิ่งกว่านั้นหามิได้” ดังนั้นการที่กัญชาเข้าในตำรับยาที่มีพริกไทยซึ่งมีรสเผ็ดร้อนก็ดี คือเข้ากับพิกัดยา “ตรีกฏุก”ก็ดี (พริกไทย ดีปลี ขิงแห้ง) ก็ล้วนแล้วแต่เป็นการเพิ่มธาตุไฟเพื่อไล่ลมทั้งสิ้น [4] ในขณะบุที่กลไกของสารพิพเพอรีนในพริกไทยดำสามารถช่วยเรื่องการเคลื่อนไหวของระบบทางเดินอาหารที่ผิดปกติได้ [9]

ตัวอย่างดังที่กล่าวมาข้างต้นนี้แสดงให้เห็นว่าพริกไทย พริกล่อน ดีปลี ไม่ได้มีบทบาทเพียงแค่เพิ่มฤทธิ์ทางยาให้กับกัญชาเท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่ในการถ่วงดุลผลข้างเคียงบางอาการที่เกิดขึ้นจากกัญชาได้ด้วย

ในโอกาสที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ ซึ่งมีผลประกาศบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑๗ กุมภาพันธ์,พ.ศ. ๒๕๖๒ อันเป็นผลทำให้กัญชาสามารถกลับมาใช้ในทางการแพทย์ได้เป็นครั้งแรกในรอบ ๔๐ ปี มหาวิทยาลัยรังสิตภายใต้การนำของ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ได้ตัดสินใจที่จะวิจัยฟื้นฟูตำรับยา “ประสะกัญชา” และ “อัมฤตย์โอสถ” ให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง โดยวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ วิทยาลัยแพทย์แผนตะวันออก และสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิตจะร่วมกันวิจัยทั้ง ๒ ตำรับนี้ในทางคลีนิกต่อไป หรืออาจจะเปิดโอกาสให้กับผู้ที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาลแพทย์แผนไทยของภาครัฐหรือเอกชน คลีนิกแพทย์แผนไทย คลีนิกแพทย์แผนไทยประยุกต์ ได้เข้าร่วมในงานวิจัยได้ด้วยเช่นกัน

ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวอาจารย์ เภสัชกร ณฐวรรธน์ จันคณา หัวหน้าโครงการวิจัย จากวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์ทั้ง ๒ ตำรับที่มีคุณภาพตรงตามข้อกำหนดมาตรฐานของเภสัชตำรับสมุนไพรไทยและสากล โดยให้มีสารสำคัญในปริมาณสูง มีเสถียรภาพคงตัวตามมาตรฐาน ได้เตรียมสารสกัดให้อยู่ในรูปแบบสารสกัดผงแห้งเพื่อให้สะดวกในการใช้ในยุคปัจจุบัน อีกทั้งยังจะเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพของยาแผนไทยและเพิ่มความน่าเชื่อถือให้แก่แพทย์ผู้สั่งใช้ยารวมถึงผู้ป่วยที่ได้รับยาอีกด้วย

นอกจากนั้นตำรับยาที่มีใบกัญชาอยู่ครึ่งหนึ่งหรือ “ประสะกัญชา” และ “อัมฤตย์โอสถ” ต่างอยู่ในบัญชีรายชื่อ ๒ ใน ๑๖ ตำรับยาจากทั้งหมด ๙๐ ขนานซึ่งจัดทำโดยที่”มีประสิทธิผล มีความปลอดภัย วิธีการผลิตไม่ยุ่งยากซับซ้อน ตัวยาหาไม่ยาก และมีสรรพคุณตำรับที่แก้ปัญหาสาธารณสุข”

ซึ่งตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ ๗) พ.ศ. ๒๕๖๒ จะให้แพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน สามารถปรุง ๒ ตำรับยานี้สำหรับคนไข้เฉพาะตนได้อยู่แล้วโดยไม่ต้องวิจัยใหม่ หากแต่ทางมหาวิทยาลัยรังสิตเห็นว่าการวิจัย ๒ ตำรับภูมิปัญญาพระราชทานนี้ไม่เพียงแต่จะพัฒนาให้ ๒ ตำรับยานี้ มีคุณภาพ มีความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังจะนำองค์ความรู้ที่ได้จากงานวิจัยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ๒ ตำรับนี้ มาบูรณาการต่อยอดกับข้อมูลใหม่ที่ได้จากการวิจัยกัญชาทางเภสัชศาสตร์ยุคปัจจุบัน  ที่ก้าวหน้าขึ้นของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งอาจจะนำไปสู่ความท้าทายที่จะพัฒนาเป็น “ตำรับยาใหม่ที่มีกัญชาของแพทย์แผนไทย” ให้เป็นความหวังของผู้ป่วยต่อไปในอนาคตอันใกล้นี้ได้

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต